โกรทฮอร์โมน คือ ฮอร์โมนการเจริญเติบโตตามธรรมชาติที่ร่างกายผลิตมาจากต่อมใต้สมอง ส่งผลโดยตรงต่อความสูง ความยาวกระดูกและการเจริญเติบโตของกล้ามเนื้อ ช่วยส่งเสริมการเจริญเติบโตในเด็ก รวมถึงช่วยรักษาโครงสร้างร่างกายให้เป็นปกติในผู้ใหญ่ และมีบทบาทในการเผาผลาญทั้งในเด็กและผู้ใหญ่
โกรทฮอร์โมนส่งผลต่อความสูงในเด็กอย่างไร?
โกรทฮอร์โมนมีความสำคัญมากสำหรับเด็ก เพราะช่วยให้เด็กเจริญเติบโตสมวัย เสริมสร้างภูมิต้านทาน พัฒนาการสมอง ระดับโกรทฮอร์โมนจะเพิ่มขึ้นมากในช่วงวัยเด็กและเพิ่มสูงสุดในช่วงวัยรุ่น โกรทฮอร์โมนทำหน้าที่ส่งเสริมการเจริญเติบโตของกระดูกและกระดูกอ่อน ที่ส่งผลโดยตรงต่อความสูงของเด็ก และยังมีหน้าที่ควบคุมไขมัน กล้ามเนื้อ เนื้อเยื่อ และส่วนอื่นๆ ของการเผาผลาญในร่างกาย เช่น การออกฤทธิ์ของอินซูลินและระดับน้ำตาลในเลือด
เด็กที่ขาดโกรทฮอร์โมนจะส่งผลให้การเจริญเติบโตล่าช้า สัญญาณหลักของการขาดโกรทฮอร์โมนในเด็กคือ เด็กจะมีความสูงเพิ่มขึ้นช้ามากกว่าเด็กทั่วไป เช่น มีความสูงเพิ่มขึ้นน้อยกว่า 1.4 นิ้วต่อปีในช่วงทองของการเจริญเติบโต (ระหว่างช่วงอายุ 9- 14 ปี ) และจะเข้าสู่วัยแรกรุ่นล่าช้ากว่าเกณฑ์
โกรทฮอร์โมนทำให้เราสูงขึ้นได้หรือไม่?
โกรทฮอร์โมช่วยเพิ่มการเติบโตในวัยเด็กและวัยรุ่น แต่เมื่อร่างกายเราเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว โกรทฮอร์โมนจะไม่สามารถช่วยให้สูงขึ้นได้อีก แต่โกรทฮอร์โมนที่ร่างกายผลิตขึ้นในแต่ละวัยในวัยผู้ใหญ่และผู้สูงอายุ จะช่วยรักษาโครงสร้างของร่างกายและมีประโยชน์ต่อการเผาผลาญอาหารในร่างกาย
โกรทฮอร์โมนหลั่งเวลาไหน?
ร่างกายผลิตโกรทฮอร์โมนในขณะที่กำลังนอนหลับ มีการหลั่งในชั่วโมงแรกหลังจากที่หลับสนิท ระหว่าง 5 ทุ่ม ถึงตี 3 หากหลับไม่สนิทหรือนอนดึกโดยเฉพาะหลังเที่ยงคืนร่างกายก็จะไม่สร้างโกรทฮอร์โมน ระยะเวลาในการนอนที่เหมาะสมแตกต่างกันในเด็กแต่ละช่วงวัย เช่น เด็กก่อนเข้าเรียนควรนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อย 10-13 ชั่วโมง, เด็กวัยเรียนอย่างน้อย 9-10 ชั่วโมง และในช่วงวัยรุ่นควรนอนให้ได้อย่างน้อย 8-9 ชั่วโมง