อ.ดร.บงกช ธุระธรรม
ในปัจจุบันความสูงมีอิทธิพลต่อจิตใจ สังคม และโอกาสในการทำงาน ดังนั้น การพัฒนาความสูงของลูกน้อยควรมีการวางแผนให้ถูกหลักในช่วงเวลาทองของลูก
ปัจจัยที่มีผลต่อความสูงคือ พันธุกรรม ฮอร์โมน โภชนาการ การพักผ่อนและการออกกำลังกาย เด็กจะแบ่งการเจริญเติบโตเป็น 3 ช่วงวัย ช่วงแรกคือ วัย 2 ปีแรกจะมีการเพิ่มความสูงและน้ำหนักอย่างรวดเร็ว ดังนั้นการดูแลปัจจัยที่ส่งผลต่อความสูงในช่วงวัยนี้จึงมีความสำคัญอย่างมาก เพราะหากเด็กได้รับการส่งเสริมการพัฒนาอย่างเต็มที่ เด็กจะมีพัฒนาการการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว ภายในร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ ช่วงที่ 2 คือ ช่วงก่อนเข้าวัยรุ่น ตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป ช่วงนี้ความสูงจะเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆประมาณ 5-6 เซนติเมตรต่อปี และช่วงสุดท้ายคือช่วงเข้าสู่วัยรุ่น ร่างกายจะเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วซึ่งในเพศชายและเพศหญิงจะแตกต่างกัน เพศหญิงมักเริ่มต้นเมื่ออายุประมาณ 9-10 ปี และมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วสุดที่อายุประมาณ 11-12 ปี ส่วนเพศชายเริ่มต้นเมื่ออายุประมาณ 11 ปี และมีอัตราการเจริญเติบโตเร็วสุดที่อายุประมาณ 13 ปี
กระดูกเป็นส่วนที่เกี่ยวข้องกับความสูงโดยตรง กระดูกที่มีความสำคัญกับความสูงก็คือกระดูกยาว ได้แก่ กระดูกขาและกระดูกแขน โดยที่ส่วนประกอบของกระดูกยาวสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ส่วน คือ diaphysis หรือ shaft (ส่วนตรงกลาง) epiphysis (ส่วนปลายทั้งสองข้างของกระดูกที่เป็นกระดูกฟองน้ำ) และ metaphysis เป็นส่วนที่อยู่ระหว่างทั้งสองส่วนที่ได้กล่าวมาแล้ว โดยที่การเจริญเติบโตทางยาวของกระดูกมาจากส่วน metaphysis ที่บริเวณepiphyseal plate หรือ growth plate หรือ แผ่นสร้างกระดูก จะพบการสร้างกระดูกแบบแทนที่กระดูกอ่อน (endochondral ossification) โดยการสร้างและการยืดยาวออกของกระดูกถูกกระตุ้นโดยการสร้าง growth hormone ซึ่งหลั่งจากต่อมใต้สมองส่วนหน้า และ insulin-like-growth-factor I (IGF-1) ซึ่งถูกกระตุ้นผ่าน growth hormone โดยที่แผ่นสร้างกระดูกจะหยุดสร้างเมื่อเข้าสู่อายุ 18-21 ปี โดยที่เพศหญิงจะหยุดเร็วกว่าเพศชาย ดังนั้นจนกว่า growth plate จะหยุดทำงาน ร่างกายสามารถกระตุ้นความสูงได้โดยผ่านปัจจัยต่างๆ ที่มีผลต่อการเจริญของกระดูก
ในส่วนของศาสตร์ทางกายภาพบำบัดที่ช่วยเรื่องกระตุ้นความสูงคือการออกกกำลังกายและการเล่นกีฬา ซึ่งจะไปกระตุ้นการทำงานของ growth plate ในการเพิ่มความสูง และการดึงยืด เป็นการดึงยืดกระดูกสันหลังโดยใช้เครื่องดึง จากงานวิจัยหลายๆงานวิจัยพบว่า การดึงหลังด้วยระยะเวลาและแรงดึงที่พอเหมาะจะช่วยเพิ่มความสูงและคงความสูงได้ระยะเวลาหนึ่ง โดยการเพิ่มระยะห่างระหว่างช่องว่างของกระดูกสันหลัง ซึ่งจะดูยืดขึ้น และยังทำให้กระดูกสันหลังตรงมากขึ้น ไม่เอียง ดังนั้น การเพิ่มความสูงสามารถกระตุ้นได้โดยใช้หลายปัจจัยร่วมกันเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพมากขึ้น
อ้างอิง
Rodacki, ALF et al. Changes in stature during and after spinal traction in young male subjects. Brazilian Journal of Physical Therapy [online]. 2007, v. 11, n. 1, pp. 63-71.
Bridger RS, Ossey S, Fourie G. Effect of lumbar traction on stature. Spine (Phila Pa 1976). 1990 Jun;15(6):522-4.
Blum, W. F., Alherbish, A., Alsagheir, A., El Awwa, A., Kaplan, W., Koledova, E., & Savage, M. O. (2018). The growth hormone–insulin-like growth factor-I axis in the diagnosis and treatment of growth disorders. Endocrine connections, 7(6), R212-R222.
Von Pfeil, D. J., & DeCamp, C. E. (2009). The epiphyseal plate: physiology, anatomy, and trauma. Compendium (Yardley, PA), 31(8), E1-11.
Lee JH, Kim SK, Lee EK, Ahn MB, Kim SH, Cho WK, et al, Factors affecting height velocity in normal prepubertal children,” Ann Pediatr Endocrinol Metab. 2018. 23: 148-153
Spinelli, S. (2020). Lumbar Traction. E3 R3HAB.